สหรัฐอเมริกากับความพยายามในการต่อต้านฝ่ายซ้ายในชิลี (1946 – 1970) ของ การแทรกแซงของสหรัฐในชิลี

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไป การเมืองโลกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนคือฝ่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา และฝ่ายสังคมนิยมนำโดยสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความพยายามในหลายๆวิถีทางที่เป็นไปได้ในการขยายอิทธิพลและป้องกันอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นสิ่งที่สั่นคลอนอำนาจของตนเอง

กรรมกรชาวชิลีเดินขบวนสนับสนุนนายซัลวาดอร์ อัลเยนเดในการเลือกตั้งปี 1964

เมื่อย้อนกลับมามองสภาพการณ์ในประเทศชิลี ในขณะนั้นสังคมชิลีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอย่างเห็นได้ชัดเจนคือกลุ่มนายทุนกับกลุ่มกรรมกร ซึ่งกลุ่มกรรมกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไนเตรดและเหมืองแร่ทองแดง ต่างได้รับการกดขี่จากนายจ้างและไม่ได้รับความเท่าเทียม รวมทั้งสวัสดิการที่ไม่ดีพอ ดังนั้นความคิดแบบมาร์กซิสจึงเริ่มเข้ามาเผยแพร่แก่กลุ่มกรรมกรเป็นลำดับแรก[3] ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ชิลีและพรรคสังคมนิยมได้ถือกำเนิดขึ้น

อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาเกิดความรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งและเกรงว่าหากประเทศชิลีมีรัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นสังคมจะเป็นผลร้ายต่อประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งในด้านของเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของภูมิภาค กล่าวคือ กิจการเหมืองแร่ไนเตรดและทองแดงอาจถูกยึดเป็นของรัฐ รวมถึงมีประเทศที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมอยู่ใกล้ประเทศของตนด้วย รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาจึงกดดันรัฐบาลของประเทศชิลีนำโดยนายกาเบรียล กอนซาเลซ บิเดลา ให้ออกประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมาย[4] ทั้งๆที่พรรคคอมมิวนิสต์มีส่วนทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง

ถึงแม้จะมีการประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมายแต่กลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้าย รวมไปถึงพรรคสังคมนิยมชิลีได้รวมพลังกันก่อตั้ง Unidad Popular อันเป็นแนวร่วมของผู้ที่มีความคิดฝ่ายซ้ายภายใต้การนำของนายซัลวาดอร์ อัลเลนเด ในการเลือกตั้งในปี 1958 นายซัลวาดอร์ อัลเยนเด้แพ้การเลือกตั้งนายเอดูอาร์โด้ มอนทาลวาไม่มากนัก เมื่อนายเอดูอาร์โด้ได้เป็นประธานาธิบดี ได้มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแบบทุนนิยมเสรี ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา และลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ส่งผลให้สินค้าจากอเมริกาเข้ามาขายในประเทศชิลีเป็นจำนวนมาก กรรมกรที่แต่เดิมรายได้น้อยอยู่แล้ว ก็ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน รวมไปถึงเศรษฐกิจของชิลีที่ค่อนข้างแย่มากจากนโยบายทุนนิยมที่ล้มเหลว ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากประเทศสหรัฐอเมริกาและ IMF มากขึ้น เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ย่อมเห็นได้โดยชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์จากการใช้นโยบายทุนนิยมเสรี ส่งสินค้าเข้ามาขายคราวละมากๆ รวมทั้งสามารถควบคุมเศรษฐกิจของชิลีไม่ให้เป็นอิสระผ่านรูปแบบการกู้เงินต่างๆ และสหรัฐอเมริกาสามารถมั่นใจได้ว่าตราบใดที่นายเอดูอาร์โดยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ สหรัฐอเมริกายังคงได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จากประเทศชิลี

เมื่อครบกำหนดการดำรงตำแหน่งของนายเอดูอาร์โด ได้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นในปี 1964 ครั้งนี้ยังคงเป็นการแข่งระหว่างผู้สมัครสองคนเป็นสำคัญคือนายเอดูอาร์โดและนายอัลเยนเด้ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจมาก ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างสูงมากในการช่วยนายเอดูอาร์โดหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัยและสามารถรักษาผลประโยชน์ของอเมริกาได้ รวมไปถึงป้องกันนายอัลเยนเด้ที่มีความคิดแบบสังคมไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจในชิลี การเลือกตั้งครั้งนี้สหรัฐอเมริกา โดยการจัดการของ CIA ได้สนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณ การโฆษณาชวนเชื่อ รวมไปถึงการเดินทางออกไปขอคะแนนเสียงและสนับสนุนพรรคจากเล็กพรรคน้อยให้ออกมาตัดคะแนนนายอัลเยนเด้[5] การกระทำครั้งนี้ของสหรัฐอเมริกาและ CIA ประสบผลสำเร็จ นายเอดูอาร์โด้กลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากหมดวาระของนายเอดูอาร์โด้อีกหนึ่งสมัย ประเทศชิลีได้มีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปี 1970 โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 ผู้สมัครคนสำคัญคือนายอเลสซานดิ ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและนายอัลเยนเด้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้สหรัฐอเมริกาไม่ได้ทุ่มเทงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ทุ่มเทงบประมาณเพื่อโจมตีนายอัลเยนเด้ อย่างไรก็ตามในครั้งนี้การกระทำของ CIA และสหรัฐอเมริกาไม่เป็นผลสำเร็จ นายซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคนแรกของลาตินอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้ว แต่ทางสหรัฐอเมริกามีท่าทีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยใช้บทความต่างๆเพื่อโจมตีนายซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ เมื่อสหรัฐอเมริการู้ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่สำเร็จแล้วจึงส่งคนไปลักพาตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุดของชิลีคือนายพลชไนเดอร์ เพื่อเจรจาให้นายพลชไนเดอร์ร่วมมือกับรัฐประหาร[6] อย่างไรก็ตามนายพลชไนเดอร์ ผู้ซึ่งปฏิญาณตนปกป้องรัฐธรรมนูญ ได้ยิงต่อสู้กับกลุ่มคนที่จะทำการลักพาตัว ท้ายที่สุดในพลชไนเดอร์เสียชีวิต การเสียชีวิตของนายพลชไนเดอร์ในครั้งนี้ส่งผลให้กองทัพและประชาชนสนับสนุนเขามากขึ้น และอัลเยนเด้ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของชิลี

ใกล้เคียง

การแท้ง การแทรกแซงของสหรัฐในชิลี การแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐของรัสเซีย พ.ศ. 2559 การแทรกแซงทางทหารในลิเบีย พ.ศ. 2554 การแทรกแซงทางเศรษฐกิจ การแทนความรู้ การแทรกสอด การแทนจำนวนมีเครื่องหมาย การแทรกแซงสงครามกลางเมืองรัสเซียโดยฝ่ายสัมพันธมิตร การแทรกสัญญาณข้าม

แหล่งที่มา

WikiPedia: การแทรกแซงของสหรัฐในชิลี http://www.gwu.edu/~nsarchiv/NSAEBB/NSAEBB8/ch26-0... http://www.gwu.edu/~nsarchiv/NSAEBB/NSAEBB8/nsaebb... http://www.gwu.edu/~nsarchiv/latin_america/chile.h... http://www2.gwu.edu/~nsarchiv/NSAEBB/NSAEBB8/docs/... http://www2.gwu.edu/~nsarchiv/news/20000919/01-03.... http://www.princeton.edu/~bsimpson/history405/hist... http://foia.state.gov/Reports/ChurchReport.asp http://foia.state.gov/Reports/HincheyReport.asp